RESTAURANT 5 March 2024 | By ณรงค์ รู้จำ

Whatever life throws at Duangrit Bunnag

ช่วงที่ผ่านมาคนในชุมชนเก่าแก่ย่านท่าน้ำคลองสานคงแปลกใจไม่น้อยที่จู่ๆ ก็มีคนหน้าใหม่หมุนเวียนมาเยือนไม่ขาดสาย โดยมีปลายทางอยู่ที่โกดังเก่าริมน้ำเจ้าพระยาที่ถูกทิ้งร้างนานถึง 30 ปี ซึ่งบัดนี้ถูกปรับโฉมเป็น The Jam Factory

บทสนทนาดิบๆ กับ ดวงฤทธิ์ บุนนาค... 

(สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายน 2559)

ช่วงที่ผ่านมาคนในชุมชนเก่าแก่ย่านท่าน้ำคลองสานคงแปลกใจไม่น้อยที่จู่ๆ ก็มีคนหน้าใหม่หมุนเวียนมาเยือนไม่ขาดสาย โดยมีปลายทางอยู่ที่โกดังเก่าริมน้ำเจ้าพระยาที่ถูกทิ้งร้างนานถึง 30 ปี ซึ่งบัดนี้ถูกปรับโฉมเป็น The Jam Factory ที่ตั้งของสำนักงานสถาปนิก ร้านอาหารไทย ร้านกาแฟ ร้านขายหนังสือ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ และแกลเลอรี่งานศิลปะ ชุมชนเล็กๆ ที่สมบูรณ์สำหรับชาวอุดมอาร์ตคติ นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดจากความคิดของชายหนุ่มที่ชื่อ ดวงฤทธิ์ บุนนาค 

ตอนนี้ผลงานมีอะไรบ้าง

ต้องยอมรับว่า 3 ปีหลังนี่เศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่โรงแรมใหม่ก็เลยมีน้อย แล้วก็ขนาดเล็กลง มันเป็นบริบทที่เป็นการปรับตัว งานโรงแรมรีสอร์ทของเราก็น้อยลงด้วย ล่าสุดที่ทำคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว The Naka Phuket (เดอะ นาคา ภูเก็ต) ซึ่งได้รางวัล The Best New Hotel in the World Award 2014 ของ Wallpaper Magazine อเมริกา เป็นวิลล่า 96 หลัง ยื่นจากหน้าผา กระจก 3 ด้าน พื้นไม้ เหมือนเป็นกล่องกระจกลอยกลางอากาศ เป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้เข้าพัก เป็นอะไรที่ท้าทายมากๆ แนวคิดก็ไม่ได้ซับซ้อน คิดว่าเออ... อยากนอนอยู่กลางอากาศ 

ใครเป็นคนต้นคิด

มันก็เราอยู่แล้วละครับ โจทย์คือเจ้าของเขาอยากได้วิลล่าสวย ส่วนมากลูกค้าที่มาหาผมเขาอยากได้อะไรที่ดีที่สุด  อยากได้ความคิดที่ทีดีที่สุด ทำแล้วมีชื่อเสียง มีลักษณะเฉพาะ แล้วเราก็คอมมิทว่าเราดีลิเวอร์ได้ จริงๆ แล้วมันยากที่เชื่อว่าทำแล้วจะได้อะไรที่ดีที่สุดในโลก แต่เราให้ได้ มันจะไม่ดีที่สุดก็ตรงที่ยูแก้เรานี่แหละ (หัวเราะ) ยิ่งแก้ก็ยิ่งดีน้อยลง อย่างนากาภูเก็ต ลูกค้าแทบไม่แก้งานเราเลย ผลก็เลยออกมาดี

เป็นประสบการณ์ใหม่จริงๆ

ถูกต้อง ที่จริงสถาปนิกทุกคนมีความสามารถที่จะทำในสิ่งที่ผมทำได้หมดแหละ ลูกค้าก็เช่นกัน แต่ทำไมเขาไม่ทำ อะไรที่มันหยุดเราไม่ให้มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นละ อันนั้นแหละที่เราน่าจะสืบค้น

กลัวแพง

มันก็ไม่แพงนะ ทุกคนคิดว่าตึกผมแพงหมดเลย มันก็ราคาปกติ แต่มันดูแพง แล้วมันไม่ดีหรือ ที่คุณทำคอนโดดูแพง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้แพง สิ่งเดียวที่แพงคือ ค่าแบบของผม (คนฟังหัวเราะร่วน) ซึ่งถ้าเทียบกับมูลค่าโครงการแล้วมันจิ๊ดเดียวเอง โครงการพันล้าน ค่าแบบสิบล้าน ยังไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ มันได้เยอะกว่านั้นเยอะ แต่ทำไมเขาไม่ทำ อะไรที่มันหยุดเขา อันนี้คุณต้องไปถาม ผมเองก็ไม่รู้ คือผมมีประสบการณ์ว่าอดีตมันหยุดมนุษย์  มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในความกลัวที่มาจากอดีต แล้วทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับอดีตมันก็หยุดเราจากอนาคตที่ควรจะเป็น แต่ถ้าเราสามารถเป็นอิสระจากมันได้ เราก็สามารถสร้างได้ทุกอย่าง สามารถสร้างอนาคตได้ทุกรูปแบบที่เราอยากจะสร้าง อันนั้นเป็นเรื่องยากที่สุดเลยที่ทำให้คนเห็นว่าอะไรหยุดเขาจากอนาคตทั้งหมดที่เขาควรจะมี

ยากไหมที่จะทำให้เจ้าของ นักลงทุนเชื่อและมาหาเรา

สมมุติคุณเป็นผู้ชาย มีผู้หญิงสวยเดินมา คุณต้องโน้มน้าวมั๊ยว่า เฮ้ย! ผู้หญิงคนนี้สวย ผู้หญิงสวยคือสวย ดังนั้นสิ่งที่ผมทำคือดีลิเวอร์ผู้หญิงสวย ลูกค้าเหมือนกันเวลาผมให้เขาดูภาพของผม มันสวย จบเลย ประเด็นก็คือเวลาคุณเป็นอาคิเทคคุณจะดีลีเวอร์โปรเจ็กท์คุณให้เป็นผู้หญิงสวยได้รึเปล่า ถ้าทำได้ก็จบ ถ้าทำไม่ได้คุณก็ต้องโน้มน้าว ต้องอธิบาย ต้องชักจูง ต้องออกแรง แต่เราไม่ต้องทำ เห็นงานแล้วสวยมั๊ยสวย ดีดตัวเลขมาคุ้มมั๊ย คุ้ม คิดว่าของแบบนี้ขายได้เท่าไหร่

คือเราคิดไปถึงเรื่องการตลาด ความคุ้มค่าให้ด้วย

เราคิดหมดครับ เราคิดทุกอย่างที่เป็นบริบทของโปรเจ็กท์ การเงิน การตลาด เศรษฐศาสตร์ คือเราทำเป็นอัตโนมัติเลยนะ เหมือนเวลาคุณหายใจ คุณไม่เคยสังเกตใช่มั๊ยว่าคุณหายใจเข้าออกตอนไหน คือมันเป็นเรื่องโง่มากถ้าเรามาคุยเรื่องลมหายใจคุณตลอดเวลาที่คุณหายใจเข้าหายใจออก ทุกอย่างที่เกี่ยวกับโปรเจ็กท์มันอยู่ในสมองเราตลอดเวลา และทุกอย่างที่เราทำไปมันสะท้อนไปถึงตรงนั้นโดยตรงอย่างไม่ต้องสงสัยเลย ทำแล้วขาดทุนไม่ใช่วิธีที่เราทำ ต้องมีกำไร

งานที่ทำให้ ‘ทรู’ (True) ก็คิดแบบเดียวกัน

เราก็ทำในวิธีคล้ายกัน แต่มันคนละ conversation ทรูนี่ผมโชคดีที่ผมทำงานกับคุณศุภชัยและผู้บริหารที่ตัดสินใจได้เลย แล้วเราก็ไม่ได้หยุดแค่งานออกแบบ เราไปถึงแบรนด์  เราสามารถทำให้เขาดีลิเวอร์คุณค่าของแบรนด์ได้ ในวิธีที่คนอื่นทำไม่ได้ ซึ่งอันนั้นผมว่ามัน Powerful

โปรเจ็กท์เล็กๆ ที่ทำมีบ้างมั๊ย

ก็ทำให้รีเทลด้วยครับ ตอนนี้ทำให้แบรนด์แฟชั่นเยอะเหมือนกัน มีทำให้เกรย์ฮาวด์ที่ทองหล่อ เป็นโปรเจ็กท์ใหญ่ของเกรย์ฮาวด์เลย ที่เขาจะรวมแฟชั่นร้านอาหารในที่เดียวเลย อีกอันคือ แบรนด์ The Only Son เป็นแบนด์แฟชั่นใหม่แนวเรียบเท่

การที่มีลูกค้ารีเทลเดินมาเรามากขึ้น หมายความว่าเขาอยากได้ตัวตนที่แตกต่างจากคนอื่น

จุดหนึ่งคอมเมอเชียลมันแข่งกันมาตลอด มีนวัตกรรมแล้ว ลดแลกแจกแถมแล้ว ยังขายไม่ได้ สุดท้ายแวลูของแบรนด์ที่มันเหลือเรื่องดีไซน์ เราก็ไปเก็บตกตรงนั้นแหละ พวกดีเวล็อปเปอร์พวกนี้เขาก็ต้องยอมจ่ายค่าแบบให้ผมสูงนิดนึง แต่ต้นทุนคิดแล้วคุ้ม ไม่ได้ว่าจะแพงกว่า คือคนเรามันมีเพอเซ็ปชั่นว่า แอดแวลูดีไซน์เข้าไปแล้วสินค้ามันต้องแพง ที่จริงแล้วกลับกันด้วยซ้ำ สินค้าที่ได้รับการดีไซน์อย่างดีจะถูกกว่าสินค้าที่ถูกดีไซน์แบบไม่ดี

เพราะจะต้องคิดไปถึงเรื่องการผลิต เรื่อง Economy of scale ด้วย

ถูกต้อง แล้วมันก็การันตีด้วยว่ามันจะขายได้ง่ายกว่า อันเดียวที่คุณจ่ายเยอะกว่าก็คือค่า Fee แต่ว่าอย่างอื่นมันไม่ได้แพงกว่า ในเจเนเรชั่นต่อไปผมว่าสินค้าจะไปแข่งกันเรื่องดีไซน์ คือคุณต้องเป็นอาคิเทคที่ต้องสามารถแอดเรื่องแวลูของดีไซน์เข้าไปในโปรเจ็กท์แล้วให้มาร์เก็ตติ้งมันเวิร์คได้

ดีไซน์ของคุณ ใช้ความเป็นไลฟ์สไตล์ของคนเข้ามาคิดด้วยรึเปล่า

ก่อนอื่นคุณต้องลบความคิดเรื่องเทรนด์ออกไปให้หมดเลย มันไม่ได้มีอยู่จริง มันเป็นแค่บทสนทนาที่ถูกสร้างขึ้น และส่วนมากมันจะถูกสร้างขึ้นจากคนที่ไม่ใช่ดีไซเนอร์ เพื่อที่จะอธิบายบางอย่างที่เขาไม่เข้าใจ เทรนด์ก็จะถูกเข้าใจแบบนั้น ดีไซเนอร์เรามองว่าเป็นบางสิ่งบางอย่าง เป็น Possibility within the context อะไรที่มันเป็นไปได้บ้างใน ‘บริบท’ ที่เรามี ในช่วงเวลาที่เราอยู่ขณะนี้ ในวัสดุที่เรามี ในเงื่อนไขของธุรกิจที่เรามีกับการตลาดที่เรามีตอนนี้ What is possible? แต่ว่าการที่ดีไซน์มันก่อกำเนิดขึ้นในปัจจุบัน มันคือ Now ทีนี้พอมันมี Now ของคนนั้นคนโน้นคนนี้ เพื่อที่จะอธิบายพวกนี้ คนที่ไม่ได้เรียนเรื่องดีไซน์มาเขาก็จะจับมันรวบแล้วเป็นเทรนด์ แต่ดีไซเนอร์ไม่เคยคิดเรื่องเทรนด์ ไม่เคยแคร์เลย เราใช้คำว่า ‘บริบท’ ทุกอย่างที่มันแวดล้อมบริบท ฟังก์ชั่นก็เป็นบริบท แบรนด์ก็เป็นบริบท ความต้องการของลูกค้าก็เป็นบริบท ทุกอย่างเป็นบริบท มันไม่ได้มาจากอะไรอย่างเดียว มาจากทุกอย่างที่เราทำ

ก็ต้องมีคนขมวดบริบททั้งหมดนั้นออกมา 

งานของเราก็ต้อง Get บริบททั้งหมด อาคิเทคที่สามารถเก็บบริบททั้งหมดได้ ก็จะ Win

แต่ก็ต้องมีลายเซ็นต์ที่มีความเป็น ‘ดวงฤทธิ์’ 

ไม่มี ตรงกันข้ามเลย ผมจะไม่เอาตัวผมใส่เข้าไปในงานที่ผมทำ นี่คือวิธีเดียวที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จมา 25 ปี ผมพยายามน้อยที่สุดที่จะเอาตัวผมใส่เข้าไปในงาน คือทุกครั้งผมจะบอกลูกน้องที่ออฟฟิศว่า โปรเจ็กท์นี้เราไม่ได้ทำมาจากตัวเองนะ มันทำมาจากลูกค้า ทำมาจากบริบท เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า Signature ไม่เคยมีเลย แต่วิธีที่เราพยายามทำให้มันไม่มีที่สุด ตรงนั้นน่ะมี เพราะว่าถ้าเราพยายามทำให้มันมีปุ๊บเนี่ย สิ่งที่มันจะขัดขวางเราจากที่เรามี ก็คือไอ้ความพยามยามที่จะทำให้มันมี ฟังแล้วเข้าใจยากมั๊ย (มองหน้า คนฟังหัวเราะตอบ) คือถ้าคุณยิ่งพยายามเท่าไหร่ให้มันมีซิกเนเจอร์ คุณจะยิ่งไม่มีซิกเนเจอร์

คำว่า ‘กลิ่น’ น่าสนใจ คือมันเป็นไปได้ที่มันจะมีกลิ่น เพราะว่าเวลาที่เราแบบไม่ได้เป็นแม้กระทั่งตัวเราในแต่ละงานปุ๊บเนี่ย เราจะมี self representation ที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ พอเวลาที่เรามีอิสระตรงนั้นปุ๊บ ตัวตนของเราก็จะออกมาเอง โดยที่เราไม่ต้องพยายาม ยิ่งเราพยายามจะเป็น ตัวตนของเราจะไม่ออกมา

โอเค.... แต่ผมว่าสิ่งที่คุณทำก็ยังมีกลิ่นของคุณให้รู้สึกได้

คำว่า ‘กลิ่น’ น่าสนใจ คือมันเป็นไปได้ที่มันจะมีกลิ่น เพราะว่าเวลาที่เราแบบไม่ได้เป็นแม้กระทั่งตัวเราในแต่ละงานปุ๊บเนี่ย เราจะมี self representation ที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ พอเวลาที่เรามีอิสระตรงนั้นปุ๊บ ตัวตนของเราก็จะออกมาเอง โดยที่เราไม่ต้องพยายาม ยิ่งเราพยายามจะเป็น ตัวตนของเราจะไม่ออกมา สัมภาษณ์ผมจะปวดหัวนิดหน่อย สมองต้องทำงานหนักนิดนึง (หัวเราะกันร่วน)  คือจริงๆ การที่ผมทำอยู่ตรงนี้ สามารถสร้างผลลัพธ์ในชีวิตได้มากขนาดนี้ บางทีเราก็ต้องทำงานอีกระดับหนึ่งของสมองละ แล้วก็วิธีคิดของเราก็ต้องแตกต่างออกไป ไม่ได้บอกว่าแตกต่างจากคนทั่วไปนะ แตกต่างจากตัวเราเองไปตลอดเวลา บางครั้งการที่คุณถามผมว่าทำได้ยังไง ผมไม่สามารถตอบเป็นคำถามหนึ่งต่อหนึ่งได้ มันก็ต้องแบบนี้แหละ แต่ถ้าคุณเก็ทมัน คุณก็จะทำได้ในแบบนี้ผมทำ

การที่เราจะคิดงาน ต้องจำเป็นต้องย้ายตัวเองไปหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มั๊ย

จริงๆ แล้วไม่จำเป็น เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่เรียกว่า Outer ring context ได้ทุกๆ วินาที อยู่ที่วิธีที่เราจะมอง ยกตัวอย่าง คุณมองช้อน (หยิบช้อนตรงหน้าขึ้นมา) คุณมองด้านนี้ก็เห็นอย่างนึง มองอีกด้านนึงก็เห็นอีกอย่าง คือทั้งชีวิตคุณมองช้อนแค่ด้านเดียวนี่แหละ แล้วคุณก็ไม่เคยเก็ทว่าจริงๆ มันเป็นยังไง outer ring context คือการเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งตอนนี้คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองของมันได้โดยไม่ต้องออกไปหาจากที่อื่น แต่ว่าเราต้องปล่อยวางของเดิมก่อน จึงจะเห็นของใหม่ได้

พูดถึงโครงการ The Jam Factory

ความตั้งใจคือการย้าย มันต้องขยาย เดิมทีมี 32 คน ตอนนี้ต้องเผื่อเป็น 60 คน พื้นที่ต้องมี 1,000 ตร.ม. ที่เดิมก็ไม่พอ ค่าเช่าก็ค่อนข้างสูง บังเอิญมารู้จักกับเจ้าของที่นี่ เขาก็ชวนมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ก่อนหน้านี้มันเป็นโรงงานถ่านไฟฉายตรากบ โรงน้ำแข็ง ข้างหน้าก็เป็นโรงงานยาเก่า ร้างมา 30 ปีละ ไม่มีใครมาแตะต้องมันเลย เจ้าของก็เป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียน เขาชวนมาหลายทีแล้ว พอมาดูก็คิดว่าน่าจะปรับปรุงเป็นออฟฟิศได้ ดีดตัวเลขแล้วคุ้มกับค่าเช่า(ยิ้ม) ก็ตกลง แล้วพอพื้นที่มันเหลือก็เลยทำร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านอาหาร ซึ่งเกิดมาในชีวิตไม่เคยทำพวกนี้เลย ส่วนร้านเฟอร์นิเจอร์เคยทำอยู่แล้วก็เอาไว้ที่นี่ ก็เลยมีส่วนผสมเหล่านี้ในโครงการ จึงเรียกมันว่า The Jam Factory

ที่จริงอยากได้แค่ออฟฟิศ แต่พื้นที่มันเยอะเลยต้องทำเป็นโปรเจ็กท์ใหญ่

มันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ นะ แต่คนไม่ค่อยเชื่อ (คนฟังหัวเราะ) ผมไม่ได้มี strategy อะไร ปรัชญาการใช้ชีวิตของผมอันหนึ่งคือ 'เต้นรำไปกับชีวิต’ เคยได้ยินมั๊ยฮะ เราเต้นรำไปกับมัน เวลาเราเต้นก็ไม่คิดอะไรไปข้างหน้ามาก ภาษาอังกฤษเขาพูดกันว่า Whatever life throws at us ชีวิตจะหยิบอะไรให้เรา เราก็เต้นตำไปกับมัน ผมก็ใช้ชีวิตวิธีนี้ พอมาถึงที่นี่ปุ๊บ อ้าว! ตึกนี้มันเหลืออยู่นี่หว่า หน้าตามันเหมือนร้านอาหารนะ แล้วก็เจอเพื่อน คุณแอ้ม(นรี บุณยเกียรติ) ก็ชวนมาทำ ก็เลยเป็นร้านอาหาร The Naver Ending Summer ขึ้นมา คือผมทำไม่เป็นเขาทำเป็น แต่ก็มีตัวตนของผมอยู่เยอะ เพราะผมบอกเขาว่าผมอยากได้ร้านอาหารไทย ในบรรยากาศเท่ๆ เก๋ๆ คือผมอยากได้ร้านอาหารไทยแบบนี้มานานละ ไม่ต้องมีไม้แกะสลัก ไม่ต้องมีลายไทย แล้วเป็นอาหารไทยแบบชาวบ้านสุดๆ ไม่มีอะไรที่เป็นชาววัง เป็นอาหารที่ผมชอบกินอย่าง ไข่พะโล้ แกงเผ็ด แต่ต้องอร่อย

มันต้องเป็นอาหารไทยจากภาคไหนมั๊ย

อาหารไทยเหมือนกันหมดแหละ ก็เอาสูตรที่เราชอบกิน ผมว่าอาหารไทยที่มันต่างกันก็เพราะส่วนผสม น้ำปลาต้องดี เนื้อผักต้องสด ก่อนที่เราจะทำร้านนี้ เรามองว่าอาหารไทยตอนนี้มันมีอยู่ 2 แบบ อันนึงคืออาหารไทยแบบเนี้ย แต่ขายในตลาด ซึ่งมันใช้ส่วนผสมของดีไม่ได้เพราะมันแพง คนก็คิดว่าอาหารไทยต้องถูก ก็ไม่ยอมซื้อแพงกัน ทำให้อาหารไทยมันไม่อร่อย อีกแบบหนึ่งก็คืออาหารไทยที่ขายในโรงแรมซึ่งรสชาติก็ถูกปรับไปให้ฝรั่งกิน ซึ่งก็ไม่รู้จะปรับทำไมเพราะฝรั่งก็ไม่ได้อยากกิน มันก็เลยไม่มีอาหารไทยที่ถูกต้อง เราก็พยายามทำอาหารไทยให้ถูกต้อง แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีคนติบ้าง ผมก็รับฟัง ชิม อันไหนไม่ใช่ก็ปรับ เพราะผมก็รู้ว่ามันเป็นยังไง กินมาตั้งแต่เด็ก ก็คุยกับเชฟปรับปรุงกันตลอด ตอนนี้นิ่งมากละ รสชาติดีหน้าสวย แฮปปี้มาก (ยิ้มกว้าง) ก็โชคดีที่เจ้าของอยู่ทุกวัน กินทุกวัน ถ้าเจออะไรผิดปกติก็บอกให้แก้ไขได้ทันที (หัวเราะ)

ถือเป็นประสบการณ์ใหม่กับธุรกิจร้านอาหาร

เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดี เพราะเป็นธุรกิจที่เยี่ยมมาก ทำรายได้สูสีกับบริษัทสถาปนิกเลย (หัวเราะกันทั้งวง) รู้งี้ทำตั้งนานแล้ว น่าจะรวยเร็ว

ดีไซน์ของที่นี่ใส่อะไรเข้าไปบ้าง

ที่จริงก็แทบไม่ต้องเติมอะไรเลยนะ ทำโต๊ะทำพื้นใหม่ ใส่ต้นไม้ เปลี่ยนหลังคา ใส่ sky light เข้าไปตรงกลาง มื้อกลางวันคนไทยจะบ่นร้อนหนีไปนั่งริมๆ แต่ฝรั่งชอบมาก (หัวเราะ) ที่นี่ลูกค้าฝรั่งเยอะนะ พอทำร้านอาหารเราก็พบว่าฝรั่งอยู่ย่านนี้กันเยอะ เป็นคนทำงานไม่ใช่นักท่องเที่ยว ตอนนี้เราขายได้ 3 รอบทุกวัน เย็นคนไทย ค่ำฝรั่ง กลางวันอีกรอบ เสาร์อาทิตย์ต้องจองนะ บอกตรงๆ (ยิ้ม) แต่ถ้ามาเลยก็อาจรอคิวนิดหน่อย

ขยายร้านได้แล้ว

ตอนนี้ก็ขยายแล้วนะ เราเช่าที่ข้างๆ เพิ่มไว้ละ ติดริมน้ำเลย จะทำอีกร้านนึงมีอาหารฝรั่งปนด้วย แต่ก็เป็นอาหารฝรั่งง่ายๆ อีกนั่นแหละ แล้วก็มีอาหารทะเล ขนม เครื่องดื่ม ทำให้มันสนุกขึ้น น่าจะเปิดได้เดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้

เริ่มสนุก

เริ่มสนุก เริ่มเห็นสัจธรรม อ๋อ ทำตรงนี้แล้วรวยนี่หว่า (หัวเราะร่วน) ทำสถาปนิกมาตั้งหลายปีไม่รวยสักที เข้าใจละ

แต่การบริหารแยกกัน

แยกกันครับ คนละบริษัท ตอนนี้ผมมีทั้งหมด 9 บริษัท(ยิ้มกว้าง) อยู่ตรงนี้หมด ทุกบริษัทผมจะมีพาร์ทเนอร์มาช่วย ที่ทำใหม่ล่าสุดคือ บริษัท Revolution Daffodils ทำนิตยสาร แล้วก็กำลังจะลอนช์อีกธุรกิจหนึ่ง เป็นแฟชั่น แบรนด์ของเราเองชื่อ Lonely Two-Legged Creature ซึ่งผมได้น้องอีกคนหนึ่งมาช่วยทำ น่าจะไปได้ดี

ย้ายมาอยู่นี่ได้ธุรกิจใหม่หลายตัว

เยอะเลย เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต แต่งานออกแบบก็ยังทำ ยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ธุรกิจอื่นก็ขยายไปด้วย มีพาร์ทเนอร์เยอะขึ้น ทีมงานเยอะขึ้น ขยายเรื่อยๆ ตัว Anyroom เองก็ไปได้ดี นอกจากเฟอร์นิเจอร์ปีนี้เราก็จะมีโปรดักท์ใหม่ Anyroomhouse ทำบ้านขาย เป็นบ้านสำเร็จรูป สร้าง 4 เดือนเสร็จ ราคา 3 ล้านบาท เนื้อที่ 90 ตร.ม. บ้านหลังไม่ใหญ่ เป็นบ้านเหมือนรีสอร์ทอยู่ต่างจังหวัดซึ่งไอเดียก็เกิดจากพวกเพื่อนเราอยากได้บ้านต่างจังหวัดสวยๆ แต่ไม่อยากยุ่งยากไปดูการก่อสร้าง เราก็โอเคบ้านนี้ ดวงฤทธิ์ออกแบบสวยแน่ (ยิ้ม) แบบบ้านมี 4 แบบแต่หน้าตาเหมือนกันเพื่อคอนโทลคอสต์ แต่ว่าสามารถซื้อเพิ่มไปต่อกันได้ถ้าอยากได้หลายหลัง แล้วก็เราดูแลติดตั้งให้ รับประกัน 4 เดือนเสร็จ ซึ่งเราก็มีพาร์ทเนอร์มาช่วยไปได้ทั่วประเทศ อันนี้ก็จดเป็นอีกบริษัทหนึ่ง

พูดถึงตัวแมกกาซีน The Jam Magazine ก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก

ครับ กลางปีนี้เราจะทำอีกเล่ม เป็นแมกกาซีนเล่มจริงๆ

แต่ตอนนี้คนอ่านออนไลน์เยอะขึ้น

ผมมองว่าสุดท้ายจะเหลือแต่แมกกาซีนจริงๆ คือข้อเสียของการอ่าน digital magazine คือเราจะใช้มันเมื่อเวลาอยากได้ข้อมูลจริงๆ แต่ว่าต้องเข้าใจว่าการอ่านหนังสือมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลเลย การอ่านหนังสือมันเป็น feeling ที่แมกกาซีนกระดาษเท่านั้นที่ทำได้  มันเป็น self expression ซึ่งเวลาเราอ่านหนังสือจากไอแพดมันทำไม่ได้ เวลาเราอ่าน Economist เราก็อยากให้คนอื่นเห็น เพราะว่ามันดูฉลาด ผมว่ามนุษย์สุดท้ายก็ยังเป็นมนุษย์ ต้องการ self expression แล้วแมกกาซีนที่เป็นกระดาษยังเป็น self expression ของมนุษย์ คือคนทำแมกกาซีนต้องเก็ทตรงนี้ หน้าปกต้องโคตรเท่ ไม่รู้เนื้อหาเป็นยังไงนะ แต่หน้าปกต้องเท่ไว้ก่อน แล้วถ้าไปดูตลาดแมกกาซีนที่ญี่ปุ่นก็ไม่เคยซบเซานะ ขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งสิ่งหนึ่งที่แมกกาซีนญี่ปุ่น breakthrough เรื่องนี้ก็คือทุกเล่มมันจะมี self expression มันจะบอกเลยว่าคนที่อ่านแมกกาซีนเล่มนี้จะเป็นคนแบบไหน แมกกาซีนประเภท general interest magazines จะค่อยน้อยลง มันไม่เวิร์คอีกต่อไป ต้องชัดเจนว่าชั้นจะพูดเกี่ยวกับอะไร และถ้ามันพูดสิ่งที่เป็น self expression ของมนุษย์ได้ ก็จะ survive ฟรีแมกกาซีนที่ผมทำ Jam Factory ก็ใช้สมการนี้ในการทำ ซึ่งมันเป็นแมกกาซีนที่ถ้าคุณหยิบมาอ่านคุณจะเท่ชั่วๆ เลยอ่ะ แล้วคอนเทนท์ข้างในก็รีเฟล็กตรงนั้น มันก็เท่ด้วย คนก็หยิบอ่าน โฆษณาก็อยากจะลงเพราะมันเท่

ตรงนี้ก็มีทีมทำโดยเฉพาะ

ถูกต้องครับ เรามีทีมดีไซน์แมกกาซีนชื่อ Drug store เป็นทีมที่เคยทำแมกาซีนมาหลายฉบับ ซึ่งผมก็ไปหุ้นกับเขาอีก เน้นหุ้นอย่างเดียว (หัวเราะ) ตอนนี้ Jam Factory Magazine คุ้มทุนแล้ว 4 เดือน ผมเคยทำ Art 4D มาก่อน กว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ซัดไป 2 ปี (หัวเราะ)

ตอนนั้นมันอาจเร็วไป 

ครับ แต่สำหรับ Jam Factory Magazine มันเพอร์เฟ็กท์ละ ไปสบายละ ก็เตรียมเปิดแมกกาซีนจริงๆ ประมาณกลางปี ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ไม่เหมือนกัน ต้องขออุบไว้ก่อน

ทำงานเยอะ แล้วมีไลฟ์สไตล์กิน ดื่ม เที่ยว ยังไง

ก็จะมีแบบเพื่อนๆ ชวนไปดูที่ใหม่ๆ แต่ต้องจัดเวลาให้ดี เพราะเวลาผมตอนนี้ตั้งแต่ 7 โมงครึ่งจนถึงเที่ยงคืน ถูก occupy ไปหมดเกลี้ยงเลย เสาร์อาทิตย์ก็หมดแรงแล้ว แต่สิ่งที่ผมชอบทำจริงๆ คือขี่มอร์เตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ไปต่างจังหวัด แต่ตอนนี้เบรคไปสักพักเพราะไปชนที่เชียงใหม่แขนหักยังไม่หายดี

เสน่ห์ของมันคืออะไร

มันไม่คิดอะไรดี เวลาขี่มันโฟกัส แล้วเวลาโฟกัสเราก็รีแลกซ์ เหมือนกับจดจ่ออยู่กับมัน เป็นอิสระจากสิ่งที่เราใช้ชีวิตประจำวัน คิดเฉพาะตัวเรา เครื่องยนต์ แล้วก็ความเร็วที่พุ่งไปข้างหน้า มันสนุก เป็นความรู้สึกอิสระมาก

ขี่บ่อยมั๊ยครับ

ปกติขี่ทุกอาทิตย์ หลังๆ ก็ทุกเดือน มาหยุดตอนเจ็บนี่ละ ไปครั้งหนึ่งก็ 2-3 วัน แล้วทุกปีเราจะรวมแก็งค์กับรุ่นพี่รุ่นน้องสมัยเรียนหนังสือขี่จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ เป็นทริปที่สนุกมาก เอาเสื้อผ้าไป ค่ำไหนก็นอนนั่น แต่ทุกอย่างเตรียมการวางแผนไว้แล้วนะ

ทำงานมาหลายอย่างแล้ว มีอะไรที่อยากทำอีกบ้าง

ผมไม่รู้ ผมเต้นรำไปกับมันจริงๆ ผมไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นกับผมอีก ผมก็บอกกับลูกน้อง พอละๆ สักวันเปิดอีกบริษัทแล้ว(ยิ้ม)

เคยบอกไว้ว่า อยากดีไซน์กรุงเทพฯ

ทุกวันนี้ก็ดีไซน์อยู่ แต่ทำโดยไม่ได้ใช้ Political power ในการทำ เราดีไซน์มันใน Conversation หรือบทสนทนา เวลาคนมาถามทำ อยากให้กรุงเทพฯ เป็นยังไง เราก็พูดในแบบที่เราอยากให้มันเป็น เราดีไซน์กรุงเทพฯ ด้วยการสนทนา ผมก็ไม่รู้ว่าไอ้สิ่งที่ผมทำอยู่มันเวิร์คหรือเปล่านะ แต่ก็เริ่มสัมผัสได้ว่าบางสิ่งบางอย่างเริ่มเปลี่ยนไปในวิธีที่มนุษย์คิด

อาจมีคนที่รับข้อความจากเรา แล้วมีพาวเวอร์ที่ทำได้

 พาวเวอร์มันอยู่ที่คน ผมคิดจริงๆนะว่าพาวเวอร์อยู่ที่คนกรุงเทพฯ แล้วเราก็เชื่อว่า Authority ไม่มีความรู้อ่ะ เขาไม่มีทางทำได้ แต่ถ้า people get it วันนึงมันจะเกิดขึ้น ดังนั้นที่เราทำคือให้มนุษย์เก็ท และสิ่งที่เราทำได้คือบทสนทนา ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วทุกสิ่งอย่างในโลกนี้มันสามารถครีเอทได้ด้วย ‘บทสนทนา’ อย่างเดียว ไม่ต้องนี้ดพาวเวอร์ สิ่งที่เราจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือการ influence ความคิดของเรา แล้วก็ action อย่างโครงการ The Jam Factory ที่เราทำ ก็เปลี่ยนแปลงความคิดคนได้เยอะ คนเริ่มมองว่าชั้นจะเอาตึกเก่ามาทำอะไรได้บ้าง เห็นไอ้นี่มันทำแล้วรวยว่ะ เริ่มมองเห็นค่าตึกเก่า ไม่รื้อทิ้งแล้ว ในแง่การลงทุนใช้โครงสร้างเดิมก็ถูกด้วย ผมว่าอันนี้เป็น conversation ที่เราสร้างและเปลี่ยนแปลงความคิดคนได้ และตอนนี้เรากำลังทำโปรเจ็กท์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ คือการพัฒนาท่าเตียน ซึ่งเราตื่นเต้นกับมันนะ เป็นโปรเจ็กท์ที่ไม่ค่อยมีคนอยากทำเท่าไหร่ แต่เรากลับมองว่ามันเวิร์ค เฮ้ย! ตลาดท่าเตียนมันสามารถกลับมาเป็น Tourist attraction ได้ มันสามารถเป็นตลาดที่คนกรุงเทพฯ ชื่นชมภูมิใจได้ว่าเคยมีตลาดเก่าแก่อย่างท่าเตียนอยู่ ความท้าทายคือเราจะทำให้มันฟื้นคืนชีวิตกลับมาได้ยังไง ซึ่งก็มีสิ่งที่เราต้องต่อสู้อยู่ด้วย.

The Jam Factory

RELATE ARTICLE

Gaggan The LAB
LE DU
Narisawa Restaurant
5 RAW Best Restaurant
Quince
BURNT ENDS
EAT ME
White lies Italian Omakase By Maurizio Menconi
80/20 ..Episode 2
La Scala  - The ItalianJob vol.2
PRIME restaurant
Gaa  by Chef Garima Arora
KOKS | Faroe Islands
Relae | Copenhagen | Denmark
Restaurant Ekstedt | Stockholm | Sweden
อีสานซัมเมอร์ @ TAAN
สำรับสำหรับไทย โดย เชฟปริญญ์ ผลสุข
Fäviken Magasinet
Baan Nual อาหารไทยใต้ถุนบ้านตำรับมหาชัย
SORN ศรณ์
The Colors from Piedmont
CHEF'S TABLE by chef ART - Classic Never Dies